4 ทศวรรษการสร้างครูดนตรีในภาคเหนือ
เป็นระยะเวลากว่า 40 ปี ตั้งแต่หลักสูตรดนตรีศึกษา วิทยาลัยครูเชียงใหม่ ซึ่งเป็นหลักสูตรดนตรีศึกษาแห่งแรกของภาคเหนือ พัฒนาจนถึงมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ในปัจจุบัน ได้สร้างครูและบุคลากรทางการศึกษา ตลอดจนศิลปินมืออาชีพ ร่วมพัฒนาสังคมดนตรีของประเทศอย่างต่อเนื่อง
ความเป็นมาโดยสังเขป
สำหรับชาวมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ พ.ศ. 2567 ถือเป็นขวบปีสำคัญ เพราะเป็นปีที่อายุของมหาวิทยาลัยครบ 100 ปี พอดี ตลอดระยะเวลาแห่งพัฒนาการจากอดีตจนถึงปัจจุบันสถานศึกษาแห่งนี้ผันผ่านเรื่องราวอันเป็นความทรงจำและเป็นส่วนหนึ่งในความทรงจำของหลาย ๆ คน ทุกเรื่องราว ณ ที่แห่งนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะถูกบันทึก จดจำ และส่งต่อเพื่อพัฒนาในรุ่นต่อ ๆ ไป
ขณะที่มหาวิทยาลัยครบขวบปีที่ 100 ประวัติศาสตร์ย่อย ๆ ของพัฒนาการการเรียนการสอนสาขาต่าง ๆ เล็กน้อยก็ดำเนินอยู่ภายใน เป็นเสมือนฟันเฟืองแห่งความทรงจำตัวเล็ก ๆ ที่หมุนและขับเคลื่อนไปพร้อม ๆ กับฟันเฟือนอันใหญ่คือมหาวิทยาลัย
เช่นเดียวกันกับมหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ. 2567 นี้ ก็ยังเป็นปีสำคัญของหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาดนตรีศึกษา ด้วยเพราะเป็นปีครบรอบ 45 ปี แห่งการเรียนการสอนของหลักสูตรที่ดำเนินการต่อเนื่องมายาวนาน และเป็นส่วนหนึ่งในอีกหน้าประวัติศาสตร์หนึ่งของการศึกษาดนตรีในประเทศไทยด้วย เพราะที่นี่คือหนึ่งในแหล่งผลิต “ครูดนตรี” แห่งแรก ๆ ของประเทศไทย

หลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาดนตรีศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ มีการดำเนินงานคู่กับมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่มากระทั่งปัจจุบันครบ 45 ปีแล้ว แรกเริ่มพัฒนาการด้านการเรียนการสอนอันเป็นปฐมบทที่นำไปสู่การสร้างหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาดนตรีศึกษาในปัจจุบันนั้นย้อนไปได้ตังแต่ช่วงแรกของการก่อตั้งมหาวิทยาลัย ซึ่งปรากฏหลักฐานและร่องรอยเริ่มแรกในฐานะกิจกรรมดนตรีเมื่อครั้งยังเป็นโรงเรียนฝึกหัดครูกสิกรรรมประจำมณฑลพายัพที่ก่อตั้งใน พ.ศ. 2467 อีก 3 ปี ต่อมาปรากฏในบันทึกของโรงเรียนฝึกหัดครูใน พ.ศ. 2470 ว่ามีการแสดงลิเกเรื่องเจ้าสุวัตร นางบัวคำ โดยนักเรียนและมีแตรวงของนักเรียนบรรเลงร่วมด้วย สอดคล้องกับจดหมายเหตุเสด็จมณฑลพายัพของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวในวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2469 ที่ได้ทรงประทับรถยนต์ทอดพระเนตรบริเวณโรงเรียนกสิกรรมและเสด็จวัดกู่เต้าว่ามีวงแตรวงของนักเรียนจากหลากหลายสถาบันมาบรรเลงรับเสด็จ ซึ่งร่องรอยจากบันทึกหลักฐานเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าเริ่มมีกิจกรรมทางดนตรีและรากฐานความคิดการศึกษาดนตรีเกิดขึ้นในสถาบันแห่งนี้ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งแล้ว
กิจกรรมดนตรีภายในโรงเรียนฝึกหัดครูกสิกรรรมประจำมณฑลพายัพยังคงดำเนินการต่อเนื่องมา มีหลักฐานบันทึกว่าช่วงก่อนเกิดส่งครามโลกครั้งที่ 2 เคยมีการตั้งวงหัสดนตรีที่โรงเรียนฝึกหัดครูมาก่อน ความว่า
“…โรงเรียนฝึกหัดครูเชียงใหม่เป็นแหล่งผลิตครูที่เจริญแห่งหนึ่งในภาคเหนือ และเป็นโรงเรียนที่ตั้งขึ้นนานพอดูเหมือนกัน แต่เพิ่งจะเริ่มฟื้นฟูกิจกรรมการดนตรีขึ้นในปี พ.ศ. 2496 นี้เอง แต่เครื่องดนตรีนั้นยังไม่พอแต่ความต้องการของเรา ตามปรกติแล้ววงดนตรีที่สมบูรณ์จะต้องมีดนตรีให้มาก ดนตรีของเราที่มีอยู่ในปัจจุบันที่จะให้ในการฝึกหัด แทบจะพูดได้ว่า เป็นชิ้นเป็นอัน ทั้งจะฝึกหัดก็ได้ไม่ทั่วถึงกัน แต่พวกเราได้ข่าวว่าโรงเรียนจะจัดหามาให้ คือ กลอง 1 ชุด กลองแทรก 4 ใบ แซกโซโฟน 1 ตัว สไลต์ 2 ตัว กระทั่งบัดนี้ยังไม่ได้ข่าวคืบหน้าแต่ประการใดเลย คณะดนตรีจึงต้องฝันเป็นลมๆ แล้งๆ ไปก่อน กิจกรรมดนตรีที่ตั้งขึ้นนี้ มีจุดประสงค์คือ การดนตรีนี้เป็นสิ่งจำเป็นอย่างหนึ่งที่เราจะขาดเสียมิได้ ถ้าหากมีจิตใจฟุ้งซ่านเราก็ถือโอกาสหาความสำราญได้จากการเล่นดนตรี จิตใจของเราก็จะแจ่มใสร่าเริง และการดนตรียังมุ่งหวังที่จะฝึกนิสัยคนให้เป็นคนร่าเริงเสมอ คณะกิจกรรมหวังอย่างยิ่งว่า ต่อไปการดนตรีของเราจะเจริญยิ่งๆ ขึ้นไป และดีกว่าที่เป็นอยู่เดี๋ยวนี้…”
บันทึกดังกล่าวแสดงให้เห็นการขยายตัวของกิจกรรที่มีขึ้นในโรงเรียนกระทั่งเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้มีการเว้นช่วงไปและเริ่มมีการฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ใน พ.ศ. 2496 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง ซึ่งในระยะเดียวกันการเรียนการสอนดนตรีในโรงเรียนฝึกหัดครูกสิกรรรมประจำมณฑลพายัพได้พัฒนามาเป็นรายวิชาหรือในกิจกรรมชมรมดนตรีของนักเรียน ดังปรากฏว่า เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2492 โรงเรียนได้ซื้อหีบเสียงมาประกอบการสอนขับร้องนักเรียน ต่อมาจึงมีพัฒนาการเด่นชัดมากยิ่งขึ้นจากการเปิดหลักสูตรประกาศนียบัตรประโยคครูประถม (ป.ป.) ที่โรงเรียนฝึกหัดครูเชียงใหม่ในปี พ.ศ. 2496 แต่ดนตรีก็ยังคงเป็นในลักษณะกิจกรรมของชมรมเช่นเดิม แม้ว่าจะมีรายวิชาที่เกี่ยวกับการสอนดนตรีแล้วก็ตาม
ต่อมาในปี พ.ศ. 2498 โรงเรียนฝึกหัดครูเชียงใหม่ได้เริ่มใช้หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาการศึกษา (ป.กศ.) เป็นปีแรก และยกฐานะขึ้นเป็นวิทยาลัยครูเชียงใหม่ในปี พ.ศ. 2502 ได้มีการจัดเรียนการสอนดนตรีและนาฏศิลป์ภายใต้หมวดวิชาดนตรีนาฏศิลป์ขึ้น ภายหลังเมื่อมีพระราชบัญญัติวิทยาลัยครู พ.ศ. 2518 จึงได้ยกฐานะจากหมวดวิชาดนตรีนาฏศิลป์ขึ้นเป็นภาควิชาดนตรีศึกษาและนาฏศิลป์ สังกัดคณะวิชามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ในปี พ.ศ. 2519 กระทั่ง พ.ศ. 2521 จึงได้แยกออกเป็นภาควิชาดนตรีศึกษาและภาควิชานาฏศิลป์ เพื่อจัดการเรียนการสอนระดับอนุปริญญาและปริญญาตรีในรายวิชาเอกทั้งสอง

ทั้งนี้ ในช่วงปลายทศวรรษ 2510 เป็นช่วงระยะเวลาที่มีการพัฒนาและปรับปรุงระบบการศึกษาของประเทศ สำหรับรายวิชาดนตรีขณะนั้นมีเพียงวิทยาลัยครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยาเพียงแห่งเดียวที่จัดการเรียนการสอนในวิชาเอกดนตรีศึกษาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2513 เมื่อวิทยาลัยครูเชียงใหม่ได้จัดตั้งภาควิชาดนตรีศึกษาขึ้นใน พ.ศ. 2521 จึงเกิดโครงการเปิดสอนวิชาเอกดนตรีศึกษาขึ้นในปีเดียวกัน เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการครูดนตรีสำหรับไปจัดการเรียนการสอนในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ตามหลักสูตรประถมศึกษาและมัธยมศึกษา พ.ศ. 2521 ของกระทรวงศึกษาธิการ ดังเอกสารโครงการเปิดสอนวิชาเอกดนตรีศึกษา ภาควิชาดนตรีศึกษา คณะวิชามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ วิทยาลัยครูเชียงใหม่ ได้กล่าวถึงหลักการและเหตุผลว่า
“…การผลิตครูที่มีวุฒิทางวิชาดนตรีศึกษานั้นเป็นหน้าที่ของกรมการฝึกหัดครู หลักสูตรการฝึกหัดครู สภาการฝึกหัดครู พุทธศักราช 2519 กำหนดวิชาเอกดนตรีศึกษาระดับ ป.กศ. สูง และระดับปริญญาตรีไว้ด้วย ขณะนี้มีวิทยาลัยครูเพียงไม่กี่แห่งที่เพิ่งเปิดสอนวิชาเอกดนตรีศึกษา ระดับ ป.กศ. สูง และเพียงแห่งเดียวที่เพิ่งเปิดสอนถึงระดับปริญญาตรี จึงไม่เพียงพอที่จะผลิตครูที่มีวุฒิทางดนตรีศึกษาให้กับโรงเรียนต่าง ๆ ที่ต้องการครูวุฒิวิชาเอกดนตรีศึกษาทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มวิทยาลัยครูภาคเหนือ ยังไม่มีวิทยลัยครูแห่งใดที่เปิดสอนวิชาเอกดนตรีศึกษา…”
ความดังกล่าว ทำให้วิทยาลัยครูเชียงใหม่ได้จัดการเรียนการสอนระดับประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาขั้นสูง วิชาเอกดนตรีศึกษาขึ้นในปี พ.ศ. 2522 ใช้ระยะเวลาเรียน 2 ปี หรือระดับอนุปริญญา และระดับปริญญาตรี หลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาดนตรีศึกษาขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2524 และดำเนินการเรียนการสอนต่อเนื่องมากระทั่งปัจจุบัน

หลังการก่อตั้งหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาดนตรีศึกษาขึ้นใน พ.ศ. 2522 ได้มีการรับนักศึกษาเข้าเรียนอย่างสม่ำเสมอในทุกปีการศึกษา ตลอดมาหลักสูตรได้มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องทั้งในการบริหารที่หลักสูตรเป็นส่วนหนึ่งของโปรแกรมวิชาดนตรี กระทั่งเป็นส่วนหนึ่งของภาควิชาดนตรีและศิลปะการแสดง ซึ่งปัจจุบันหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาดนตรีศึกษา แยกส่วนบริหารเฉพาะหลักสูตรภายใต้รูปแบบของหลักสูตรร่วมผลิตระหว่างคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์กับคณะครุศาสตร์ โดยหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาดนตรีศึกษา มีสถานะเป็นหน่วยงานที่ขึ้นตรงต่อคณะทั้งสอง
การดำเนินงานของหลักสูตรมีการพัฒนาระบบบริหารและการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ปัจจุบันที่หลักสูตรมีการรับนักศึกษาได้จำนวน 2 ห้อง ในแต่ละชั้นปี และมีการพัฒนาปรับปรุงหลักสูตรให้ทันสมัยอยู่เสมอ โดยหลักสูตรที่ใช้ในการเรียนการสอนปัจจุบันคือ “หลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาดนตรีศึกษา (4 ปี) (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2566) มีผู้ช่วยศาสตราจารย์บูรณพันธุ์ ใจหล้า เป็นประธานหลักสูตร
การปรับตัวตามโครงสร้างการบริหารงานเฉพาะหลักสูตรนี้เริ่มอย่างเป็นทางการใน พ.ศ. 2564 กระนั้น ทางหลักสูตรได้มีการเตรียมความพร้อมในการบริหารล่วงหน้าตั้งแต่ พ.ศ. 2560 เป็นต้นมา โดยภายในหลักสูตรได้มีการแยกฝ่ายปฏิบัติงานทั้งฝ่ายวิชาการ ฝ่ายกิจกรรม ฝ่ายประชาสัมพันธ์ และฝ่ายเลขานุการ ซึ่งมีคณาจารย์ประจำหลักสูตรเป็นผู้ดำเนินงานทั้งหมด

นอกจากนี้ยังมีกำหนดหลักการแนวคิดต่าง ๆ ในฐานะหน่วยงานทางการศึกษาของมหาวิทยาลัย มีการกำหนดตราประจำสาขาวิชา การดำเนินกิจกรรมสร้างเครือข่ายทั้งทางวิชาการและศิษย์เก่าสัมพันธ์ ตลอดจนมีการก่อตั้งโครงการช้างเผือกสามัคคีเพื่อพัฒนาศักยภาพครูดนตรี – นาฏศิลป์ สู่ความเป็นเลิศ, ศูนย์ความเป็นเลิศด้านดนตรีและนาฏศิลป์ล้านนา, หอจดหมายเหตุดนตรีล้านนา เจอรัลด์ ไดค์ ซึ่งทั้งหมดมีจุดมุ่งหมายในการสร้างพื้นที่สำหรับฝึกทักษะด้านดนตรี การแสดง และความเป็นครูให้กับนักศึกษา