พิณเปี๊ยะอายุเกือบ 6 ทศวรรษ เดินทางปิ๊กบ้าน

ในปี พ.ศ. 2511 อาจารย์เจอรัลด์ ไดค์ (Gerald P. Dyck) หรือพ่อครูจริยะได้ไปพบเครื่องดนตรีชิ้นหนึ่งที่ร้านขายของเก่าในเมืองเชียงใหม่ เครื่องดนตรีชิ้นนั้นถูกแยกออกเป็นส่วน ๆ โดยมีหัวทำด้วยโลหะคล้ายกับหัวช้าง พ่อครูจริยะจึงซื้อมาด้วยราคา 40 บาท โดยยังไม่ทราบว่าเครื่องดนตรีชิ้นนี้ชื่อว่าอะไร

พ่อครูจริยะนำเครื่องดนตรีจากร้านขายของเก่ามาถามนักดนตรีที่รู้จักในเชียงใหม่ โชคดีที่นายทิพย์ เทพมงคล รู้จักว่า นี่คือพิณเปี๊ยะ เป็นเครื่องดนตรีโบราณที่เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยเล่นกันแล้ว (เพราะใช้เล่นตอนจีบสาว พอแต่งงานก็เลิกเล่น) และบอกพ่อครูจริยะว่าที่บ้านของเขาก็มีพิณเปี๊ยะอยู่ 1 เลา พร้อมทั้งเล่าว่าพ่ออุ๊ยของเขาเคยดีดให้เจ้าหลวงฟังด้วย จากจุดเริ่มต้นนี้เองที่ทำให้พ่อครูจริยะเริ่มศึกษาพิณเปี๊ยะอย่างจริงจัง จนกระทั่งไปพบพ่ออุ๊ยหมอกและพ่ออุ๊ยไหลที่ดอยสะเก็ด ตลอดจนพ่ออุ๊ยตั๋น พ่ออุ๊ยแก้ว พ่ออุ๊ยบุญ และพ่ออุ๊ยสุขที่บ้านแป้น จังหวัดลำพูน

ไม่นานนัก นายทิพย์ เทพมงคล และพ่ออุ๊ยตั๋น เขียวสวัสดิ์ก็เสียชีวิตลง พ่อครูจริยะก็เดินทางกลับสหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ. 2514 พร้อมทั้งได้นำพิณเปี๊ยะจำนวน 4 เลากลับไปด้วย (ได้แก่พิณเปี๊ยะจากร้านขายของเก่า ของนายทิพย์ เทพมงคล และของบ้านแป้น) พ่อครูจริยะได้เขียนบทความชิ้นหนึ่งที่นำไปสู่การรื้อฟื้นพิณเปี๊ยะในล้านนาในปี พ.ศ. 2518 คือ The Vanishing Pia ตีพิมพ์ใน Selected Reports in Ethnomusicology ของ University of California, Los Angeles โดยมีศาสตราจารย์ ดร. David Morton เป็นบรรณาธิการ

ในปี พ.ศ. 2559 ผม (สงกรานต์ สมจันทร์) ได้ทำโครงการดนตรีล้านนาปิ๊กบ้าน โดยเดินทางไปรับข้อมูลดนตรีล้านนาจากพ่อครูจริยะที่ประเทศสหรัฐอเมริกา นำมาจัดทำเป็นหอจดหมายเหตุดนตรีล้านนาออนไลน์ ก่อนที่พ่อครูจริยะจะเสียชีวิตในวันที่ 23 กรกฎาคม 2562 สิริอายุ 80 ปี

ในปีนี้เองที่ผมได้รับทุนระยะสั้น Higher Education Professional Development Program and English Communication Skills Training ให้ไปศึกษา ณ University of North Texas รัฐเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา ขากลับประเทศไทย ผมจึงเดินทางไปเยี่ยมภรรยาของพ่อครูจริยะ คือ แม่อุ๊ยเฮลก้า Helga Dyck และไหว้หลุมฝังอัฐิของพ่อครูจริยะที่รัฐแมสซาชูเสตส์ (ด้วยความกรุณาจัด road trip โดย Scott J Webber เพื่อนของผมจากรัฐเมน) จึงได้รับมอบพิณเปี๊ยะจำนวน 3 เลากลับมาประเทศไทยด้วย ผมจำเป็นต้องแยกส่วนพิณเปี๊ยะออก บรรจุในกระบอกกระดาษเพื่อให้สะดวกแก่การขนย้าย ทั้งนี้ การถือกระบอกใส่เครื่องดนตรี carry on จากสหรัฐอเมริกามายังประเทศไทยนั้นผมต้องอธิบายกับเจ้าหน้าที่ความปลอดภัย ตั้งแต่สนามบิน จอห์น เอฟ เคเนดี้ ที่นิวยอร์ก สนามบินฮาหมัด ที่ประเทศการ์ตาร์ ตลอดจนสนามบินสุวรรณภูมิของประเทศไทยเราด้วย เพราะมีส่วนหัวเปี๊ยะที่ค่อนข้างแหลมและชวนให้คิดว่าเป็นอาวุธหรือไม่

วันที่ 4 พฤษภาคม 2565 ผมมีโอกาสได้นำพิณเปี๊ยะของพ่อครูจริยะไปให้เพื่อนของผม คือ ครูดนุพล อุดดง ซึ่งเป็นครู เป็นนักดนตรีล้านนาและช่างทำพิณเปี๊ยะที่มีชื่อเสียงท่านหนึ่ง ได้ประกอบพิณเปี๊ยะเข้าด้วยกัน สิ่งที่เราเห็นในพิณเปี๊ยะจำนวน 3 เลาที่เดินทางจากประเทศไทยไปว่า 50 ปีแล้วกำลังกลับบ้านครั้งนี้ คือ การสร้างขึ้นด้วยมือ เราสังเกตเห็นการเหลาคัน ลูกบิดด้วยมือ อีกทั้งกะโหล้ง (กะลา) ที่บาง แต่ให้เสียงที่ดี ในขณะที่ปัจจุบันเรามีเทคโนโลยีการสร้างเครื่องดนตรีที่ทำให้เครื่องดนตรีสวยงามมากขึ้น แต่การกลับมาเห็นเครื่องดนตรีที่สร้างขึ้นด้วยมือ บรรเลงด้วยใจ และใช้ในชีวิตของชาวบ้านในอดีต ตลอดจนเป็นเครื่องดนตรีที่เป็นกิโลเมตรแรกเริ่มในการรื้อฟื้นพิณเปี๊ยะนั้น จึงเป็น “เครื่องดนตรีชิ้นครู” และมีคุณค่ามาก ๆ


พิณเปี๊ยะเหล่านี้ จะถูกเก็บรักษาไว้ที่หลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาดนตรีศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ โดยผมซึ่งรับผิดชอบโครงการหอจดหมายเหตุดนตรีล้านนาของศูนย์ความเป็นเลิศด้านดนตรีและนาฏศิลป์ล้านนา เพื่อเป็นแหล่งการเรียนรู้ด้านดนตรีล้านนาต่อไป ซึ่งที่ผ่านมาก็พยายามทำทั้งแบบ Online มาตลอด เพราะพื้นที่ในการ Onsite อาจจะไม่ค่อยสะดวก อย่างไรก็ตามก็พยายามทำเต็มความสามารถเพื่อที่อย่างน้อยก็จะได้มีหลักอะไรสักอย่างหนึ่งที่ดนตรีล้านนาจะก้าวต่อไปอย่างมั่นคง


สงกรานต์ สมจันทร์
ศูนย์ความเป็นเลิศด้านดนตรีและนาฏศิลป์ล้านนา มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
4 พฤษภาคม 2565

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *