ระนาดในวงป้าดหรือวงปี่พาทย์ล้านนาจังหวัดลำปาง

แม้ว่าในวัฒนธรรมดนตรีล้านนาเชียงใหม่จะมีระนาดใช้บรรเลง ส่วนจะเป็นลักษณะอย่างไรนั้น สันนิษฐานว่าคงจะเป็นระนาดไม้และระนาดเหล็กที่ทำลูกจาก “เหล็กตีนล้อ” นำมาตัดแล้วจัดวางบนราง ดังที่พบในวัฒนธรรมพม่าที่เรียกว่า ปัตตะล่า หรือในดนตรีไทใหญ่ที่ว่า ปัตตะยา/ปัตตะนา ที่มาจากคำว่า “พาทย” นั่นเอง แบบแผนการประสมวงในพื้นที่เชียงใหม่น่าจะมีการนำเอาระนาดไม้หรือ “พาทย์ไม้” เข้ามาประสมวงนานแล้ว และตอกย้ำอีกครั้งในคราวที่ชนชั้นนำเชียงใหม่นิยมดนตรีไทยจากกรุงเทพฯ แตกต่างจากพื้นที่อื่นที่ยังไม่มีการนำระนาดไม้มาประสมวง ดังเช่นในพื้นที่ลำปาง

แต่เดิมวงป้าดลำปาง ยังไม่มีระนาด (ระนาดเอก) เข้ามาประสมวง ต่อมาประมาณ พ.ศ. 2483 ยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ครูสิงห์คำ มาคำจันทร์ นักดนตรีที่มีชื่อเสียงจากเชียงใหม่ซึ่งเป็นระนาดลิเกได้แต่งงานและตั้งครอบครัวอยู่ที่ลำปาง ครูสิงห์คำได้ตั้งวงปี่พาทย์ และทำระนาดเอกระนาดทุ้มขาย ตั้งแต่นั้นมาระนาดจึงมีบทบาทอย่างเต็มที่ในวงป้าดก๊องลำปาง (ณรงค์ สมิทธิธรรม, 2545, หน้า 35-39)

สอดคล้องกับพื้นที่จังหวัดเชียงรายที่ปรากฏว่าช่วงนั้นยังไม่มีระนาดไม้เข้าไปประสมวง ดังปรากฏในงานเขียนของแก้วมงคล ชัยสุริยันต์ (2486) ที่บันทึกความทรงจำการบวงสรวงผีนาคของชาวเชียงรายก่อนหน้านั้นก่อน พ.ศ. 2460 ใช้วงปี่พาทย์ที่ประกอบไปด้วยเครื่องดนตรีต่างๆ คือ กลองผิ้ง (กลองเต่งถิ้ง) กลองปง (กลองป่งป้ง) แนหลวง แนหน้อย ฆ้องวง (พาทย์ฆ้อง) ฉิ่งและฉาบ

หลักฐานภาพถ่ายวงป้าดลำปางที่คุ้มเจ้าราชสัมพันธ์ อาจช่วยยืนยันในเรื่องนี้ ดังที่จะเห็นป้าดก๊อง (ฆ้องวง) กลองทึ่งถิ้ง (กลองขนาดใหญ่) และกลองรับหรือกลองตัด (กลองป่งป้ง) ที่ตีหน้าเดียว ปัจจุบันก็ยังคงตีหน้าเดียวอยู่

นอกจากนี้งานจิตรกรรมทั้งที่วาดบนฝาผนังวัดและบนผืนผ้าแถบอำเภอแจ้ห่ม และอำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง ยังสะท้อนความรับรู้ดังกล่าวเช่นกัน เช่น ภาพตุงค่าวธรรมที่วัดศรีดอนมูล อำเภอแจ้ห่ม (เขียนด้วยอักษรไทยว่า พ.ศ. 2400) ก็ไม่ปรากฏภาพระนาด เช่นเดียวกันกับฝีมือของหลวงพ่อคำป้อ อุดหนุนที่วาดฝาผนังวิหารวัดบ้านก่อ อำเภอวังเหนือ พ.ศ. 2484

จวบจนเมื่อหลวงพ่อคำป้อมาวาดฝาผนังวิหารวัดทุ่งฝูง อำเภอวังเหนือ แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2505 จึงพบว่า หลวงพ่อคำป้อวาดระนาดเอาไว้ด้วย จึงเป็นหลักฐานเรื่องการรับรู้ในสังคมชานเมืองลำปางเกี่ยวกับการประสมวงป้าดที่สอดคล้องกับข้อเสนอดังข้างต้น

ดูเพิ่ม:

แก้วมงคล ชัยสุริยันต์. (2486). เรื่องผีของชาวลานนาไทยโบราณ. พระนคร: โรงพิมพ์พระจันทร์.

ณรงค์ สมิทธิธรรม. (2545). ดนตรีพื้นบ้านฅนเมืองเหนือ. ลำปาง: สำนักศิลปวัฒนธรรม สถาบันราชภัฏลำปาง.

สงกรานต์ สมจันทร์. (2563). ประวัติดนตรีล้านนา (พิมพ์ครั้งที่ 2). เชียงใหม่: คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่.

ภาพประกอบ 1,2,3 โดย สงกรานต์ สมจันทร์

ภาพประกอบ 4 จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ


 

สงกรานต์ สมจันทร์

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านดนตรีและนาฏศิลป์ล้านนา
มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *