ปราสาทไหวลำปาง

เพลงปราสาทไหวลำปาง
บรรเลงโดย พ่อครูสิงห์คำ มาคำจันทร์ เมื่อ พ.ศ. 2518

เมื่อกล่าวถึง “ครูเก๊า” วงป้าดในตัวเมืองลำปาง กล่าวได้ว่าทั้งพ่อครูสิงห์คำ มาคำจันทร์ และพ่อครูสล่าเต้า ไชยรุ่งเรือง ต่างมีบทบาทสำคัญในการพัฒนารูปแบบการบรรเลงที่สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน

เดิมวงพาทย์ค้องลำปางไม่มีระนาดเข้ามาประสมวง ต่อมาประมาณ พ.ศ. 2483 ยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 พ่อครูสิงห์คำ มาคำจันทร์ ชาวบ้านเหมืองง่า อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน ลูกศิษย์ครูรอด อักษรทับ โดยพ่อครูสิงห์คำเป็นระนาดลิเกด้วย ได้แต่งงานและตั้งครอบครัวอยู่ที่ลำปาง ครูสิงห์คำได้ตั้งวงปี่พาทย์ และทำระนาดเอก ระนาดทุ้มขาย ตั้งแต่นั้นมาระนาดจึงมีบทบาทอย่างเต็มที่ในวงพาทย์ค้องลำปาง

ในช่วงเดียวกันกับพ่อครูสิงห์คำ ก็มีนักดนตรีอีกท่านหนึ่ง คือ พ่อครูสล่าเต้า ไชยรุ่งเรือง เป็นสล่าแน ทั้งสองท่านนี้ ถือว่าเป็นพ่อครูคนสำคัญในวงป้าดลำปาง คุณูปการของครูดนตรีสองท่านนี้ คือ การนำระนาดเข้ามาประสมวงป้าดของพ่อครูสิงห์คำ และการพัฒนาระบบเสียงแนลำปางใหม่ของพ่อครูสล่าเต้า ซึ่งใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน สอดคล้องกับผลการศึกษาของผู้ช่วยศาสตราจารย์ณรงค์ สมิทธิธรรม ที่พบว่า ทั้งวงช่างแต้ม วงพิชัย วงท่านาง วงปงสนุก พบว่า ทุกวงดนตรีต่างเป็นลูกศิษย์พ่อครูสล่าเต้า ไชยรุ่งเรือง บ้านช่างแต้ม

สำหรับเพลงปราสาทไหวลำปาง ฝีมือการบรรเลงสะล้อโดยพ่อครูสิงห์คำ มาคำจันทร์ บ้านเชิงสะพานรัษฎาฝั่งตะวันตกนี้ เข้าใจว่าสัมภาษณ์แล้วบันทึกด้วยเทปรีลโดย อาจารย์สุรสิงห์สำรวม ฉิมพะเนาว์ วิทยาลัยครูเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2518 ดังปรากฏการอ้างอิงในบทความของท่านเรื่องการเล่นเปี๊ยะ การส่งดนตรีจากดวงใจ เมื่อ พ.ศ. 2524

ในปี พ.ศ. 2566 คณะทำงานหอจดหมายเหตุดนตรีล้านนาเจอรัลด์ ไดค์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ โดยนายนิธชวัฒน์ ดวงสีลา ได้ค้นพบเทปรีลดังกล่าวเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2566 จึงได้นำมาดำเนินการแปลงเป็นดิจิทัลไฟล์ และผม (สงกรานต์ สมจันทร์) ได้นำมาวิเคราะห์กับเอกสารเกี่ยวกับพัฒนาการของวงป้าดในตัวเมืองลำปางและระบุเพลง ภายในเทปรีล ประกอบไปด้วยเสียงสัมภาษณ์พ่อครูสิงห์คำ มาคำจันทร์ เเละการสาธิตการบรรเลงเพลงต่าง ๆ อาทิ ปราสาทไหวออกทางผีมด บอกไฟขึ้ ปราสาทไหวลำพูน ปราสาทไหวลำปาง ลาวน้ำป้าว เป็นต้น

เพลงปราสาทไหวลำปาง เป็นเพลงพื้นเมืองในวัฒนธรรมดนตรีล้านนาลำปาง นิยมบรรเลงด้วงวงป้าด มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า เพลงลาก โครงสร้างของเพลงเป็นเพลงอัตราจังหวะช้า มีจำนวนท่อน 2 ท่อน กล่าวได้ว่า เป็นเพลงปราสาทไหวอีกสำนวนหนึ่งที่มีโครงสร้างซับซ้อน

ดูเพิ่ม:
ณรงค์ สมิทธิธรรม. (2535). ดนตรีประกอบการฟ้อนผีในจังหวัดลำปาง. ลำปาง: วิทยาลัยครูลำปาง.
ณรงค์ สมิทธิธรรม. (2545). ดนตรีพื้นบ้านฅนเมืองเหนือ. ลำปาง: สำนักศิลปวัฒนธรรม สถาบันราชภัฏลำปาง.
สงกรานต์ สมจันทร์. (2558). ดนตรีล้านนา: บางบท (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: จรัลสนิทวงศ์การพิมพ์.
สงกรานต์ สมจันทร์. (2565). สารานุกรมเพลงดนตรีล้านนา. เชียงใหม่: คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่.


สงกรานต์ สมจันทร์

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านดนตรีและนาฏศิลป์ล้านนา
มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *