วงกลองแห่ลูกแก้ว

วันนี้ (19 ธันวาคม 2566) มีการจัดประกวดม้าแห่ลูกแล้วและกลองแห่พื้นเมือง (กลองโต้มๆ ตามที่ผู้จัดงานเรียก) จัดโดยกองส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เนื่องในงานเกษตรแม่โจ้ หลังภาระการสอนผมจึงเข้าร่วมไปสังเกตการณ์การประกวดครับ

ทราบมาจากผู้เข้าร่วมแข่งขันว่า การจัดครั้งนี้เป็นการจัดครั้งแรกหลังจากโควิดแพร่ระบาด ก่อนหน้านั้นเคยมีการจัดอยู่ครั้งหนึ่ง แบ่งการประกวดออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนม้าแห่ลูกแก้ว และส่วนที่สองคือการประกวดกลองแห่พื้นเมือง (กลองโต้ม ๆ) โดยวงดนตรีจะต้องบรรเลงให้เข้ากันกับม้าลูกแก้ว เริ่มจากจังหวะรำวง เมื่อม้าเดินครบรอบแล้วเปลี่ยนเป็นจังหวะสามช่า เมื่อม้าลูกแก้วนอนแล้วให้หาวิธีลงจบเพลง โดยให้มีความต่อเนื่อง มีเกณฑ์เกี่ยวกับดนตรี คือ ความสอดคล้องของดนตรีและจังหวะ 30 คะแนน ความไพเราะ ลูกเล่นของกลองและแน 30 คะแนน การเทียบเสียง เสียงประสานของกลองและแน 30 คะแนน และการแต่งกายอีก 10 คะแนน

วงกลองนี้ บางแห่งเรียกว่า วงกลองตั้ง (เรียกเช่นนี้ในอดีตเพราะมีกลองสองหน้าทรงแบนประมาณรูปเขียง เวลาบรรเลงดัง ตั้ง ๆ) บางแห่งเรียกว่า วงกลองแต๊ก หรือกลองโต้ม กลองขะโล้มโบ้ม แล้วแต่ท้องถิ่น ปัจจุบันมีการนำกลองในเครื่องดนตรีตะวันตกเข้ามาใช้แทนเครื่องดนตรีพื้นเมือง

กล่าวกันว่า วงกลองโต้มนี้ มีพัฒนาการมาจากวงกลองสิ้งหม้องหรือวงกลองถิ้งบ้อม กลองสิ้งหม้องคือกลองพื้นเมืองหน้าเดียวลักษณะคล้ายกลองยาว เมื่อบรรเลงร่วมกันกับกลองตั้งดังที่ผมอธิบายก่อนหน้านี้ จะเรียกวงดนตรีว่า วงกลองถิ้งบ้อม หากไม่มีกลองตั้งในวง คงมีแต่เฉพาะกลองสิ้งหม้อง จะเรียกว่า วงกลองสิ้งหม้อง เรื่องนี้ พ่อหนานดำรงค์ ชัยเพ็ชร์ ปราชญ์กลองผู้ล่วงลับได้กล่าวไว้ครับ

เป็นที่น่าสังเกตว่าบางพื้นที่ ได้แก่ อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน เรียกวงลักษณะนี้วง “วงกลองแกร” ก็คือ วงกลองแตรนั่นเอง สะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาการที่มาจาก วงแตรในขบวนทหาร ที่เข้าใจว่าชาวล้านนาคงเริ่มรู้จักวงแตรเช่นนี้ราวสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา ดังวงแตรวงของเจ้าบุญวาทย์วงศ์มานิต เจ้าหลวงลำปาง และเห็นเด่นชัดขึ้นคราวที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จมณฑลพายัพเมื่อ พ.ศ. 2469 มีวงดนตรีลักษณะนี้บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีรับส่งเสด็จ สร้างความทรงจำเกี่ยวกับ “กลองแกร” ให้ชาวล้านนามากยิ่งขึ้น

และนี่คือสาเหตุว่า วงแตรวงยังคงตกค้างอยู่ในจังหวัดลำปางเพียงแห่งเดียว และมีการนำมาใช้ประยุกต์กับวงป้าดก๊องพื้นเมือง ดังพื้นที่อำเภองาว จังหวัดลำปางครับ

สำหรับวงกลองโต้มขนาดย่อม นิยมใช้บรรเลงในขบวนที่มุ่งเน้นไปที่ “ความบันเทิง” เป็นหลัก มีเครื่องดนตรีพื้นเมืองทำทำนองคือ แนหน้อย บรรเลงทำนองเพลงในจังหวะรำวง เพลงลูกทุ่ง และเพลงพื้นเมืองประยุกต์เข้ากับจังหวะกลองต่าง ๆ โดยเฉพาะสามช่า ส่วนเครื่องทำจังหวะ ประกอบไปด้วย กลองสแนร์ กลองทอมทอม และกลองฟลอร์ทอมหรือกลองทอมใหญ่ นอกจากนั้นก็ใช้เครื่องประกอบจังหวะ ทั้งฉาบ ฉิ่ง คาวเบล
วงดนตรีประเภทนี้ใช้บรรเลงประกอบขบวนบรรพชาสามเณรเมื่อใดไม่ปรากฏแน่ชัด แต่คงนานมาแล้ว ดังหลักฐานภาพถ่ายเมื่อช่วงทศวรรษ 2510 ที่มีการใช้กลองตั้ง(หรือลำพูนเรียกว่า กลองแกร) บรรเลงร่วมกับแนหน้อย แนหลวง และฉาบ โดยเรื่องราวของการบวชลูกแก้วหรือบรรพชาของชาวล้านนานั้น ผมได้เขียนไว้ในหนังสือ “คีตล้านนาคดี มานุษยวิทยาดนตรีและพิธีกรรมในล้านนา” ตีพิมพ์โดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) โดยสรุปไว้ดังนี้

“…พิธีบวชของชาวล้านนาที่เรียกว่า “ปอยลูกแก้ว” ที่เป็นการเปลี่ยนผ่านสถานภาพจาก “คนดิบ” หรือคนที่อาจจะยังมีความรู้ทางธรรมไม่มากนัก ให้กลายเป็น “คนสุก” อันเนื่องมาจากในอดีต วัดเป็นศูนย์กลางของการศึกษาในแต่ละชุมชน…เป็นที่น่าสังเกตว่า ชาวล้านนาให้ความสำคัญกับการบวชเณรมากกว่าการบวชพระ โดยที่ประเพณีบวชลูกแก้วนี้มีลักษณะร่วมกันทางวัฒนธรรมกับพม่าหรือไทใหญ่ที่เรียกว่า “ปอยส่างลอง” โดยจินตภาพไปยังพุทธประวัติในตอนที่เจ้าชายสิทธัตถะขี่ม้าหนีออกบวช และด้วยการที่เจ้าชายสิทธัตถะมีวรรณะกษัตริย์ พิธีบวชลูกแก้วจึงพบว่า จะมีเครื่องประกอบพิธีที่สะท้อนถึงเรื่องราวดังกล่าว ทั้งชุดของลูกแก้วที่มีการทรงเครื่องและสวมมงกุฎ ขี่ม้าและมีสัปโทนกางกั้น และถือว่าเป็นงานสำคัญของบ้านที่ลูกชาย แสดงถึงสถานภาพทางเศรษฐกิจของครอบครัวนั้น ๆ อีกด้วย มีวงดนตรีบรรเลงประกอบ ที่ต่อมาพัฒนานำเอาเครื่องดนตรีตะวันตกเข้ามาใช้ กลายเป็นวงดนตรีเพื่อความบันเทิงที่เรียกว่า “วงกลองแต๊ก” “วงกลองโบ้ม” หรือ “วงกลองตั้ง”

วงดนตรีในพิธีบวชลูกแก้ว มีหน้าที่เพียงการบรรเลงในขณะที่ลูกแก้วเดินทางไปยังบ้านหลังต่าง ๆ ในชุมชนเพื่อร่วมทำบุญ โดยเฉพาะบ้านของคนเฒ่าคนแก่ในหมู่บ้าน เรียกว่า “ลูกแก้วออกแอ่ว” เพื่อให้ทุกคนในชุมชนได้ร่วมอนุโมทนาบุญไปพร้อมกัน ดังนั้นบทเพลงที่ใช้จึงมีความคึกคักและสนุกสนาน บ้างสอดประสานกับม้าให้เต้นไปด้วย รวมถึงการแห่ลูกแก้วไปวัด…

หลังจากที่ชาวเชียงใหม่-ลำพูนรู้จักแตรวง ตลอดจนพัฒนาการวงดนตรีพื้นเมืองประยุกต์ที่มีการนำเอากลองชุดมาใช้ประสมวง ทำให้เริ่มมีการนำกลองชุดมาถอดเป็นส่วน ๆ แล้วใช้แทนเครื่องดนตรีในวงกลองสิ้งหม้องหรือวงกลองถิ้งบ้อม ได้เสียงที่ดังกว่า แน่นกว่า และจากเดิมที่บรรเลงเพลงในจังหวะมาร์ชและจังหวะรำวง กระแสความนิยมบทเพลงลูกทุ่งจังหวะสามช่าได้ส่งผลต่อรูปแบบการบรรเลง ทำให้เรียกชื่อวงดนตรีใหม่จากเครื่องดนตรีและเสียงที่ได้ยินว่า “วงกลองแต๊ก” “วงกลองโบ้ม” หรือ “วงกลองขะโล้มบ้ม” ทั้งนี้วงดนตรีดังกล่าวถูกใช้ในการทดแทนหรือต้านทานกระแส “รถเธค” หรือรถเครื่องเสียงขนาดใหญ่ (หรือที่เรียกว่ารถแห่ในปัจจุบัน) ในงานปอยหลวงฉลองเสนาสนะของวัด ด้วยเหตุผลที่ว่า เป็นการลดการทะเลาะวิวาทเมื่อว่าจ้างรถเธค รวมถึงการอธิบายเชื่อมโยงกับความเป็นล้านนาผ่านแนหน้อยและแนหลวงที่ว่า “ไม่ใช่ของเมือง” อีกด้วย…”

ปัจจุบัน การบรรพชาสามเณรหรือ “บวชลูกแก้ว” มีจำนวนลดลงมาก จึงมีการจำลอง “ลูกแก้ว” ในโอกาสขบวนทางวัฒนธรรมต่าง ๆ เช่น ในงานปอยหลวง และมีการส่งเสริมโดยเฉพาะการจัดบวชสามเณรภาคฤดูร้อน ตลอดจนการประกวดครั้งนี้

ภาพประกอบจาก หอจดหมายเหตุแห่งชาติ, ภาพถ่ายบันทึกราวทศวรรษ 2510 โดยอาจารย์ Gerald P. Dyck หอจดหมายเหตุดนตรีล้านนาเจอรัลด์ ไดค์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่, Dr. Phil Bradbeer พ.ศ. 2510, คุณนิธชวัฒน์ ดวงสีลา และจากการลงพื้นที่วันนี้ครับ

ดูเพิ่ม:
สงกรานต์ สมจันทร์. (2566). คีตล้านนาคดี มานุษยวิทยาดนตรีและพิธีกรรมในล้านนา. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).


สงกรานต์ สมจันทร์
ศูนย์ความเป็นเลิศด้านดนตรีและนาฏศิลป์ล้านนา
มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *