การเล่นพิณเปี๊ยะ: การส่งดนตรีจากดวงใจ

นับตั้งแต่รัฐบาลมีนโยบายเกี่ยวกับการอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่น ทำให้เกิดความตระหนักในการศึกษาศิลปวัฒนธรรมและกระจายตัวเป็นวงกว้างนับตั้งแต่ พ.ศ. 2520 เป็นต้นมา ซึ่งวิทยาลัยครูอันเป็นสถาบันการศึกษาผลิตครูในภูมิภาคต่างๆ ได้รับนโยบายให้ก่อตั้ง “ศูนย์วัฒนธรรมประจำจังหวัด” มีหน้าที่ศึกษาค้นคว้าวิจัยองค์ความรู้เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมในท้องถิ่น ซึ่งหมายรวมถึงศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ วิทยาลัยครูเชียงใหม่ ด้วย

ผลงานสำคัญของศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ วิทยาลัยครูเชียงใหม่ที่เริ่มต้นนับตั้งแต่การก่อตั้งศูนย์ คือ การจัดประชุมทางวิชาการล้านนาคดีศึกษา อันเป็นการรวมกลุ่มนักวิชาการที่มีความสนใจทั้งด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี ศิลปวัฒนธรรมล้านนา นำโดยอาจารย์ไกรศรี นิมมานเหมินท์. คหบดีชาวเชียงใหม่ที่สนใจในด้านนี้มายาวนาน การจัดประชุมทางวิชาการล้านนาคดีศึกษาดังกล่าวนั้นได้แยกหัวข้อเป็นครั้งๆ ครอบคลุมทุกประเด็นหัวข้อทางการศึกษาศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นทุกแขนง และหนึ่งในหัวข้อประชุม คือ ดนตรีและการแสดงพื้นบ้านล้านนา ซึ่งจัดประชุมขึ้นเมื่อวันที่ 22-24 มกราคม พ.ศ. 2524 ซึ่งมีบทความการศึกษาเรื่องพิณเปี๊ยะ คือ “การเล่นพิณเปี๊ยะ การส่งดนตรีจากดวงใจ” ของสุรสิงห์สำรวม ฉิมพะเนาว์

บทความดังกล่าวเป็นบทความปรับปรุงจากงานที่เคยเผยแพร่ในหนังสือ “การละเล่นพื้นบ้านล้านนา” ของเขาเมื่อ 4 ปีก่อนหน้านี้ และบทความประกอบการสัมมนาเรื่องดนตรีเพื่อการสื่อสารมวลชน ณ ภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บทความของสุรสิงห์สำรวม ฉิมพะเนาว์นั้น ได้นำเสนอเกี่ยวกับข้อมูลของพิณเปี๊ยะในเชิงชาติพันธุ์วรรณา (ethnography) โดยใช้ข้อมูลจากบทความเรื่อง They also serve ของไดค์ก่อนหน้านี้เป็นต้นแบบ งานของสุรสิงห์สำรวมยังได้สอดแทรกประวัติในเชิงพัฒนาการของพิณเปี๊ยะ เรื่องเล่าทางคติชนวิทยาที่สุรสิงห์ได้สำรวจจากงานภาคสนามก่อนหน้านี้ นอกจากนี้ยังพยายามค้นหานักดีดพิณเปี๊ยะหลังจากที่ไดค์ได้สำรวจก่อนหน้านี้ ซึ่งนำไปสู่การอธิบายในเชิงดนตรีวิทยาเชิงระบบด้วย ทั้งเรื่องของระบบเสียงพิณเปี๊ยะและวิธีการดีด ตลอดจนบทเพลงในสมัยนั้น ซึ่งในบทความที่รวมเล่มในงานประชุมวิชาการนี้สุรสิงห์สำรวมได้เพิ่มเติมจากงานศึกษาของเขาก่อนหน้านี้ให้เป็นระบบมากยิ่งขึ้น ซึ่งเขาได้กล่าวในบทสรุปของบทความว่า ควรมีการเผยแพร่งานวิจัยปริญญาเอกของไดค์เกี่ยวกับพิณเปี๊ยะด้วย ซึ่งเข้าใจว่าเป็นความเข้าใจผิดของสุรสิงห์สำรวม เนื่องจากไดค์ก่อนหน้านี้ถูกกล่าวหาว่าใช้นักศึกษาวิทยาลัยพระคริสต์ธรรมเป็นกลุ่มตัวอย่างในการวิจัย อันเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ไดค์ตัดสินใจกลับสหรัฐอเมริกา

อย่างไรก็ตามหลังจากการตีพิมพ์บทความดังกล่าว ก็เริ่มมีคนสนใจศึกษาพิณเปี๊ยะมากยิ่งขึ้น ทั้งในจังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดเชียงราย จังหวัดลำพูน และจังหวัดลำปาง

http://www.music.cmru.ac.th/archive/wp-content/uploads/2023/12/2524-การเล่นเปี๊ยะ.pdf

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *