เพลงพื้นบ้านลานนาไทย โดย ไกรศรี นิมมานเหมินท์

อาจารย์ไกรศรี นิมมานเหมินท์ เป็นผู้มีความรู้ความสามารถในวิทยาการด้านล้านนาคดี นอกจากนี้ยังเป็นผู้มีบทบาทในการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมของล้านนาโดยเฉพาะการจัดเลี้ยงแบบขันโตก เกิดเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2455 เป็นบุตรคนแรกของนายกี และนางกิมฮ้อ นิมมานเหมินท์ มีน้องร่วมบิดามารดา 5 คน สำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษาจากโรงเรียนศรีดอนไชย จบระดับมัธยมศึกษาตอนต้น จากโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย เชียงใหม่ (พ.ศ. 2465-2471) ต่อมาไปศึกษาต่อระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ที่โรงเรียนอัสสัมชัญ กรุงเทพฯ (พ.ศ. 2471-2474) หลังจากจบมัธยมปลายแล้วเดินทางไปศึกษาต่อที่ประเทศสหรัฐอเมริกา จบระดับปริญญาตรีวิทยาศาสตรบัณฑิต และเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2479) และจบปริญญาโทบริหารธุรกิจ จาก มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2481)

เมื่อสำเร็จการศึกษา อาจารย์ไกรศรีเดินทางกลับประเทศไทยมารับราชการเป็นอาจารย์ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยระยะหนึ่ง ได้ร่วมก่อตั้งคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จากนั้นจึงลาออกเพื่อกลับเชียงใหม่และทำงานด้านธนาคาร ต่อมาได้กลับไปทำงานที่กรุงเทพเพื่อเป็นผู้จัดการบริษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ก่อตั้งโดยข้อแนะนำของธนาคารโลก) หลังจากนั้นกลับเชียงใหม่เพื่อทำงานด้านการเงินและการธนาคารของครอบครัว โดยอาจารย์ไกรศรีมีบทบาทอย่างมากในด้านศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น ทั้งด้านงานวิชาการ การสนับสนุนและส่งเสริมบทบาทของศิลปวัฒนธรรมล้านนาขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง อาจารย์ไกรศรีเสียชีวิตเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2535

นับตั้งแต่รัฐบาลมีนโยบายเกี่ยวกับการอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่น ทำให้เกิดความตระหนักในการศึกษาศิลปวัฒนธรรมและกระจายตัวเป็นวงกว้างนับตั้งแต่ พ.ศ. 2520 เป็นต้นมา ซึ่งวิทยาลัยครูอันเป็นสถาบันการศึกษาผลิตครูในภูมิภาคต่างๆ ได้รับนโยบายให้ก่อตั้ง “ศูนย์วัฒนธรรมประจำจังหวัด” มีหน้าที่ศึกษาค้นคว้าวิจัยองค์ความรู้เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมในท้องถิ่น ผลงานสำคัญของศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ วิทยาลัยครูเชียงใหม่ที่เริ่มต้นนับตั้งแต่การก่อตั้งศูนย์ คือ การจัดประชุมทางวิชาการล้านนาคดีศึกษา อันเป็นการรวมกลุ่มนักวิชาการที่มีความสนใจทั้งด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี ศิลปวัฒนธรรมล้านนา นำโดยอาจารย์ไกรศรี นิมมานเหมินท์ คหบดีชาวเชียงใหม่ที่สนใจในด้านนี้มายาวนาน

สำหรับบทความเรื่อง “เพลงพื้นบ้านลานนาไทย” ของอาจารย์ไกรศรีนี้ เป็นข้อเขียนจากประสบการณ์ของท่านตั้งแต่ พ.ศ. 2503 ที่สืบค้นเรื่องเกี่ยวกับวัฒนธรรมของคนไทยและคนล้านนาในพม่า ได้บันทึกเสียงเพลง “โยเดีย” กลับมาประเทศไทยด้วย หลังจากนั้น อาจารย์ไกรศรีได้เริ่มบันทึกเสียงซอเมื่อ พ.ศ. 2509 จากพ่อตาคำ ชัยวิณา โดยที่อาจารย์เจอรัลด์ ไดค์ (Gerald P. Dyck) ได้กล่าวถึงการทำงานของอาจารย์ไกรศรีว่า

It is also a tribute to the thoroughness of Graisri’s approach to preserving Lanna lore. During my stay in Chiang Mai (1967-1971) he was the only Thai I knew who had the foresight to do this sort of thing.

ยกย่องแนวทางการศึกษาอย่างละเอียดถี่ถ้วนของอาจารย์ไกรศรีในการอนุรักษ์ด้านล้านนาคดี ระหว่างที่ฉันอยู่ที่เชียงใหม่ (พ.ศ. 2510-2514) อาจารย์ไกรศรีเป็นคนไทยคนเดียวที่ฉันรู้จักและมีละเอียดถี่ถ้วนในการศึกษานี้

http://www.music.cmru.ac.th/archive/wp-content/uploads/2023/12/2524-เพลงพื้นบ้านลานนาไทย.pdf

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *